Nov 8, 2022
เตือนภัย! มิจฉาชีพทำเว็บลอยกระทงออนไลน์ หลอกดูดข้อมูลส่วนตัว
ตำรวจ บช.สอท. เตือนภัยมิจฉาชีพแฝงตัว ทำเว็บลอยกระทงออนไลน์ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว-ข้อมูลการเงิน ย้ำแนวทางป้องกัน หลีกเลี่ยงกดเว็บไซต์ปลอม กรอกข้อมูลเท่าที่จำเป็น ไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญลงโซเชียลมีเดีย
โฆษก บช.สอท. ขอให้ระวังการเอาข้อมูลส่วนตัวจากเว็บไซต์
วันที่ 7 พ.ย. 2565 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพ มักฉวยโอกาสใช้สถาการณ์วันสำคัญลงมือก่อเหตุ ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ดังนี้
เนื่องในวันที่ 8 พ.ย. 2565 ถือเป็นวันลอยกระทง ผู้คนส่วนใหญ่ก็ออกมาทำกิจกรรม ร่วมกันสืบทอดประเพณีอันดีงาม และมีผู้คนบางส่วนที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรม เพราะว่าเหตุผลหลาย ๆ ประการ โดยใช้บริการลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ซึ่งจะมีการให้ประชาชนกรอกข้อมูลส่วนบุคคล
เพื่อให้อธิษฐานขอพรออนไลน์ในการลอยกระทงออนไลน์
ซึ่งเหล่ามิจฉาชีพอาจจะอาศัยโอกาสในวันสำคัญดังกล่าวสร้างเว็บไซต์ปลอมขึ้นมาทั้งหมด หรือเว็บไซต์ปลอมที่คล้ายกับเว็บไซต์จริงๆ เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนกรอกข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงิน เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์มือถือ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต เลข cvv หลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ทั้งการนำข้อมูลไปเข้าถึงบัญชีFacebook ไลน์ โดยมิชอบ แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือว่าใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หรือว่าถูกโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย
บช.สอท. โดย พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดใน
โลกออนไลน์ทุกๆรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมกับสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ
มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำดังกล่าวจะมีความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษก บช.สอท. ควรตรวจสอบเว็บไซต์ว่าให้กรอกข้อมูลที่จำเป็นหรือไม่
โฆษก บช.สอท.กล่าวเพิ่มอีกว่า ปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่าง ๆ บนสื่อโซเชียลมีเดีย ควรจะตรวจสอบให้ดีและใช้ความระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมิจฉาชีพอาจจะใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ จึงขอฝากเรียนประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว พร้อมแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.ระมัดระวังเว็บไซต์ปลอม หรือเว็บไซต์เสมือน หากต้องการเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์หรือกรอกชื่อเว็บด้วยตนเอง
2.อย่ากดลิงก์ที่เเนบมากับอีเมล์ หรือข้อความสั้น (SMS) ที่น่าสงสัย ไม่ทราบที่มา
3.ถ้าต้องกรอกข้อมูล ควรจะกรอกเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้ามีการขอข้อมูลในส่วนที่ไม่จำเป็น ให้คาดเดาได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน ถ้าไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถามกลับไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนโดยตรง
4.ไม่โพสต์ข้อมูลจำเป็นลงในสื่อโซเชียลมีเดีย และควรจะตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจำกัดผู้เข้าถึงข้อมูล
5.ตั้งรหัสผ่านให้มีความยาก ตัวอย่างเช่น ใช้อักษรตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่ ใช้อักขระพิเศษ ตัวเลข มารวมกัน อย่าใช้ชุดเลขที่เกี่ยวข้องกับวันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์มือถือ และเปิดใช้งานการเข้าถึงแบบหลายชั้น เช่น การใช้ร่วมกับ OTP หรือการยืนยันตัวตนหลายปัจจัย
อีกทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด อาทิ การให้ความคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล ด้วยการปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่ระบุเจ้าของข้อมูลได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เป็นต้นทั้งนี้ ถ้าพบเบาะแสการกระทำผิด หรือข้อขัดข้องใด ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 08-1866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
More Details